วัดมงคลชัยพัฒนา ตั้งอยู่ เลขที่ ๔๕ หมู่ที่ ๕ ตำบลห้วยบง อำเภอเฉลิม พระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เดิมชื่อวัดมงคล ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยบง อำเภอเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสระบุรี สร้างขึ้นมาแต่ปลายรัชกาลที่ ๔ (ประมาณ พ.ศ.๒๔๗๐) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรกในรัชกาลที่ ๗ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๔ และครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๘
มีอาณาเขตติดต่อกับเขตที่ดินข้างเคียง ดังนี้
ทิศเหนือ : ติดต่อกับที่ดินของนางจันทร์ โล่เงินและทางสาธารณะ
ทิศใต้ : ติดต่อกับเขตที่ดินของนางศรีวภา แม้นบุตร
ทิศตะวันออก : ติดต่อที่ดินของนายเนย สาบุตร และทางสาธารณะ
ทิศตะวันออก : ติดต่อกับเขตที่ดินของนายสมจิตร ท้าวครุฑและเขตที่ดินแปลงทฤษฎีใหม่พระราชทาน
สำหรับเจ้าอาวาสเท่าที่พอบันทึกไว้ มี ๑๔ รูป ตามลำดับ ดังนี้
1. พระจอน
2. พระมหาสุวรรณ
3. พระอ๋อง
4. พระปลิว
5. พระเหลิม
6. พระอ่อน
7. พระอธิการบุญมี
8. พระอ่อน กาญฺจโน
9. พระกาลืม
10. พระทองคำ
11. พระอธิการสมพร
12. พระศรีญาณวงศ์(จำลอง ธมฺมโชติ) พ.ศ.๒๕๓๔-๒๕๕๑
13. พระครูมงคลรัตนวัฒน์ พ.ศ.๒๕๕๑
14.พระวิสิฐคณาภรณ์ (หลวงตาโหม่ง) เจ้าอาวาสวัดมงคลชัยพัฒนา ปัจจุบัน
นับแต่สร้างเป็นวัดแล้ว ชาวบ้าน ชาววัดก็ได้ร่วมมือกันทะนุบำรุงวัดมงคลชัยพัฒนาด้วยดีตลอดมา จนเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔ วัดมงคลชัยพัฒนาได้สร้างอุโบสถใหม่แทนหลังเดิมที่ทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งที่สองแล้ว วัดมงคลชัยพัฒนา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม-ราชกุมารี เสด็จมาทรงตัดหวายลูกนิมิตในอุโบสถ ในวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๓
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ “บ้าน วัด โรงเรียน” หรือ “บวร” เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๒๔ ให้แก่ส่วนราชการและภาครัฐต่าง ๆ นำไปแก้ไขปัญหาสังคมในปัจจุบันและในอนาคต ให้เกิดความสุขสงบตลอดไป อีกทั้งยังถือว่าเป็นแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจและศรัทธาในการประสานงานพัฒนา ทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ พร้อมกับเป็นสถานที่ให้ความรู้ อบรม แลกเปลี่ยนทางวิทยาการด้านเกษตรกรรม เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพียบพร้อมด้วยความขยันและซื่อสัตย์ มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงมีพระราชดำรัสให้จัดตั้ง “โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัย-พัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ขึ้น ณ บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา จังหวัดสระบุรี
ดังนั้นการพัฒนาอาชีพด้านเกษตรกรรมจึงได้กำเนิดขึ้น ณ สถานที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีจินตนาการเกี่ยวกับการพัฒนาวัดและสภาพที่ดินทำกินที่แห้งแล้ง ราษฎรมีฐานะยากจน ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ต่อจากนั้นทรงพบว่ามีวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี ที่มีความยากจนดั่งที่ทรงจินตนาการไว้ จึงมีพระราชดำริเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิชัยพัฒนาไปจัดหาและซื้อที่ดินติดกับวัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลห้วยบง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เพื่อดำเนินการพัฒนาด้านการเกษตรตามแนว “ทฤษฎีใหม่” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้แก่เกษตรกรในการทดลองทำเป็นตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามจากวัดมงคล เป็น วัดมงคลชัยพัฒนา เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๔ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส กับ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นับจากนั้นมาถึงปัจจุบัน
เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จ พระราชดำเนินทอดพระเนตร การดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และได้บำเพ็ญพระราชกุศล ถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ อุโบสถวัดมงคลชัยพัฒนา และได้พระราชทานพระบรมรูปหล่อโลหะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีลักษณะเต็มพระองค์ประทับนั่งบัลลังก์ แก่ พระศรีญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดมงคลชัยพัฒนา เก็บรักษาไว้
หลังจากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงมีแนวพระราชดำริในการพัฒนาเด็กเล็ก ให้มีความพร้อมทุกด้านในการศึกษาสำหรับอนาคต “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสิรินธร วัดมงคลชัยพัฒนา” จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจัดตั้งขึ้นโดยได้รับพระราชทานพระนามาภิไธย สิรินธร เป็นชื่อของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นมงคลนามสูงสุดอีกด้วย พร้อมทั้งพระองค์ยังได้เสด็จมาเปิดการดำเนินการในวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๘ และได้ดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ควบคู่กับการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก วัดมงคลชัยพัฒนาได้ทำการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างตามที่ปรากฏในปัจจุบัน คือ
พ.ศ.๒๕๓๗ นายวิสุทธิ์ นางสมจิตร อัศววัลลภ ได้สร้างกุฏิเจ้าอาวาส น้อมถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมูลนิธิชัยพัฒนาได้ก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ มูลนิธิชัยพัฒนา ถวายวัดมงคลชัยพัฒนาไว้ ซึ่งก็ใช้เป็นประโยชน์มากมาย ทั้งทางวัดเอง ชาวบ้าน ประชาชนโดยทั่วไป โรงเรียนและราชการ เช่น ใช้เป็นที่อบรมปฏิบัติธรรม ปฏิบัติศาสนกิจ บำเพ็ญกุศล ประชุม สัมมนา จัดนิทรรศการ เป็นที่ทำการของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสิรินธรวัดมงคลชัยพัฒนา หรือแม้กระทั่งให้ทางราชการใช้เป็นที่ทำการชั่วคราวของที่ว่าการอำเภอเฉลิมพระเกียรติ เมื่อครั้งที่ตั้งขึ้นเป็นอำเภอใหม่และยังไม่มีที่ว่าการอำเภอ ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ การก่อสร้างในช่วงนี้ยังมีห้องสุขาและที่เก็บของทางด้านหลังของอาคารอเนกประสงค์ มูลนิธิชัยพัฒนา
พ.ศ.๒๕๓๙ นายวิชิต นางวัชรี ดุรงคพิทยา ได้สร้างอาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช ซึ่งอาคารนี้ได้ใช้ประโยชน์มากมายเช่นกัน โดยใช้เป็นที่พักของพระภิกษุสามเณรได้เป็นจำนวนมาก ใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล ปฏิบัติธรรม รักษาศีลของอุบาสกอุบาสิกา ใช้เป็นที่ประชุม สัมมนา ตลอดจนเป็นที่ตั้งของห้องสมุด พระศรีญาณวงศ์อีกด้วย
พ.ศ.๒๕๔๐ ได้สร้างหอกลอง หอระฆัง ประจำวัดมงคลชัยพัฒนา
ซึ่งจะเห็นได้ว่า การก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัดมงคลชัยพัฒนา เป็นประโยชน์สูงสุดต่อหลายฝ่าย สมดังพระราชประสงค์ตามกระแสพระราชดำริเรื่อง “บวร” โดยให้วัดเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านจิตใจ ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาอาชีพทางด้านเกษตรกรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยการร่วมมือกับทางราชการ นอกจากนี้วัดมงคลชัยพัฒนายังมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในหลาย ๆเหตุการณ์ดังกล่าวมาแล้ว
มีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ
พระประธานในอุโบสถ ปางมารวิชัย ได้ทำการสร้างพร้อมกับการสร้างอุโบสถหลังใหม่
พระประธานในอุโบสถ
พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศจำลอง มีประวัติความเป็นมาคือ องค์จริงประดิษฐานที่วัดศาลาแดง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปพระราชทานคู่เมืองสระบุรี เป็นพระพุทธรูปหนึ่งในสี่องค์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯพระราชทาน ให้แก่ชาวสระบุรี เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๑ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเพื่อเป็นพระพุทธรูปประจำทิศตะวันออก โดยพระราชทานแก่จังหวัดต่างๆ ทั้งสี่ทิศ ได้แก่ ทิศเหนือที่จังหวัดลำปาง ทิศใต้ ที่จังหวัดพัทลุง ทิศตะวันตกที่จังหวัดราชบุรี และทิศตะวันออกที่จังหวัดสระบุรี
ซึ่งในเวลาต่อมามูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับวัดมงคลชัยพัฒนา ได้ขอพระบรม -ราชานุญาตจัดสร้างพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศจำลองเท่าองค์จริง ขนาดหน้าตัก ๔๙ นิ้วจำนวน ๓ องค์ หน้าตัก ๒๙ นิ้ว จำนวน ๒ องค์ เพื่อหาทุนสมทบทุนมูลนิธิ ชัยพัฒนา
พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศจำลอง
พระบรมรูปหล่อโลหะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีประวัติความเป็นมาคือ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร การดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และได้บำเพ็ญพระราชกุศล ถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ อุโบสถวัดมงคลชัยพัฒนา และได้พระราชทานพระบรมรูปหล่อโลหะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีลักษณะเต็มพระองค์ประทับนั่งบัลลังก์ แก่ พระศรีญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดมงคลชัยพัฒนา เก็บรักษาไว้ และมีพระราชกระแสรับสั่งว่า
“วันนี้ได้นำพระบุญญาธิการของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ที่นี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองของสถานที่นี้”
นับเป็นนิมิตหมายอันดี แสดงถึงวีรกรรมที่กล้าหาญของบรรพบุรุษชาติ ที่มีพระมหากษัตริย์นักรบที่ทรงพระปรีชาสามารถยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้ทรงต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรค เพื่อปกป้องประเทศชาติให้พ้นภัยจากข้าศึก เฉกเช่นเดียวกับ “ชัยชนะแห่งการพัฒนา” อันเป็นความหมายของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มี ความร่มเย็นเป็นสุขและอยู่ดีกินดี อันจะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศ สมดังที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพยายามต่อสู้และคิดค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากให้แก่ราษฎรของพระองค์ เพียงเพื่อต้องการให้พวกเขาเหล่านั้นมีความสุข มีความพออยู่พอกิน อันยั่งยืนตลอดมา
พระบรมรูปหล่อโลหะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ที่มาภาพ : http://songmongkolchaipattana.com/pawadwat.html