ฑีฆายุโก โหตุ สงฺฆราชา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
พระประวัติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาน สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
พระประวัติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาน สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า “อัมพร ประสัตถพงศ์” ทรงเป็นบุตรคนโตในจำนวนบุตรธิดา 9 คนของนายนับ กับนางตาล ประสัตถพงศ์
ประสูติที่บ้าน ต.บางป่า อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2470
ทรงศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ต.โคกกระเทียม อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี จนทรงจบประถมศึกษาปีที่ 1 และทรงศึกษาต่อ ณ โรงเรียนประชาบาลวัดพเนินพลู ต.บางป่า อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี จนทรงสำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2480
เมื่อมีพระชนมายุ 13 พรรษา จึงได้ทรงบรรพชา ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อทรงเป็นสามเณรได้เสด็จไปทรงเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักของพระอธิการโสตถิ์ สุมิตฺโตซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระศรีธรรมานุศาสน์ เจ้าคณะอำเภอเมืองบางแพ (ธรรมยุต) ณ วัดตรีญาติ ต.พงสวาย อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี ทรงสอนนักธรรมและบาลีประโยคต่าง ๆ ในสำนักเรียนวัดตรีญาติ ได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียบธรรม 4 ประโยค
เมื่อ พ.ศ.2490 ได้ทรงพบกับพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสถาปนาชั้นเป็น สมเด็จพระพุทธปาพจนบดีชักชวนให้ทรงเข้ามาพำนักเพื่อทรงศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ในสำนักเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
ครั้นวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2491 ได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ มหาพันธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนครกรุงเทพมหานคร ทรงได้รับพระสมณฉายาว่า “อมฺพโร” มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ
ขณะทรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลีเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในสำนักเรียนวัดราชบพิธ จนทรงสำเร็จเปรียญธรรม 6 ประโยค
ต่อมาได้ทรงสมัครเข้าศึกษา ณ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยในปัจจุบัน) ทรงเป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 ทรงสำเร็จปริญญา “ศาสนศาสตรบัณฑิต” เมื่อพ.ศ. 2500 ต่อมา พ.ศ.2509 ได้ทรงเข้ารับการอบรมพระธรรมทูตรุ่นแรก
หลังจากทรงสำเร็จหลักสูตรการอบรมพระธรรมทูตแล้วในปี พ.ศ. 2510 ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) สาธารณรัฐอินเดีย จนทรงสำเร็จการศึกษามหาบัณฑิตด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เมื่อ พ.ศ. 2512
ทรงเอาพระทัยใส่รับพระภารธุระบุกเบิกกิจการพระธรรมทูตมานับแต่ยุคแรก เริ่มทรงเป็นหัวหน้าคณะเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลล์ เครือรัฐออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ.2516 ได้เสด็จไปประทับ ณ วัดพุทธรังษีสแตนมอร์นครซิดนีย์ เพื่อทรงปฏิบัติศาสนกิจด้านการเผยแพร่อันเป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษา ณ วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอรา เครือรัฐออสเตรเลีย พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและทรงสนทนาธรรม ณ วัดพุทธรังษีสแตนมอร์อยู่เป็นประจำ เป็นปฐมเหตุให้ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในสมเด็จพระสังฆราชมานับแต่ยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระปริยัติกวี
สมเด็จพระสังฆราช ทรงรับพระภารธุระในด้านการปกครองด้วยความเอาพระทัยใส่ในสรรพกิจอย่างใกล้ชิด ทรงเป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบและถี่ถ้วนสุขุมคัมภีรภาพ ทำให้กิจการทั้งมวลที่ทรงบริหารจัดการเป็นไปอย่างเรียบร้อย ทรงหยั่งเห็นอุบายโกศลในการบริหารพระศาสนกิจ โดยวิธีจัดสรรบุคลากรภายใต้พระสมณาณัติให้ดำรงอยู่ตามบทบาทและหน้าที่ที่เหมาะสม
อันจะช่วยสนองพระภารกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังมีตำแหน่งหน้าที่บางประการที่ทรงดำรง อาทิ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธมหาสีมาราม ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต แม่กองงานพระธรรมทูต ประธานกรรมการคณะธรรมยุต พระอุปัชฌาย์ นายกกรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯลฯ
ทรงอำนวยการจัดการสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลี จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ทั้งปวงในราชอาณาจักร ตลอดจนจัดการธรรมศึกษาสำหรับฆราวาส ทรงพระเมตตาต่อการศึกษาของกุลบุตรจึงทรงรับโรงเรียนวัดราชบพิธไว้ในพระอุปถัมภ์ สืบต่อมาจากพระบูรพาจารย์ ทุกยุค ในระดับอุดมศึกษา
สมเด็จพระสังฆราชผู้ทรงเป็นศิษย์เก่าและเคยทรงเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยก็ทรงเอาพระทัยใส่พระภารธุระบริหารกิจการของมหาวิทยาลัยให้รุ่งเรืองไพบูลย์ยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันทรงดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย
สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานควบคุมดูแลการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ วัดราชบพิธ ซึ่งเป็นพระอารามประจำรัชกาลที่ 5 ด้วยพระอุตสาหวิริยภาพมาโดยตลอด ทำให้พระอารามมีความสง่างามมั่นคงเป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธาแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเป็นที่ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญศาสนกิจของบรรพชิตและคฤหัสถ์ ทั้งบุคคลภายในและบุคคลภายนอกได้อย่างสมพระบรมราชปณิธาน
นอกจากวัดราชบพิธอันเป็นที่ประทับและพำนักของพระบูรพาจารย์และของพระองค์แล้ว ยังทรงพระกติญญูกตเวทิตาธรรมต่อสำนักอันเป็นที่เคยทรงศึกษาเล่าเรียนและประทับเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ จึงทรงเป็นประธานจัดหาทุนซ่อมแซมอุโบสถ สร้างศาลาการเปรียณ กุฎี และเสนาสนะต่าง ๆ ของวัดตรีญาติ จังหวัดราชบุรี ซึ่งเคยทรงศึกษาพระปริยัติธรรม ณ ที่นั้น รวมถึงวัดอื่น ๆ ตามที่ทรงรับไว้ในพระอุปการะอีกหลายแห่ง
ทรงอุปการะกิจการสาธารณสงเคราะห์มหาชนไว้เป็นอันมาก เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวราลงกรณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มูลนิธิสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวชิราลงกรณ และมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
นอกจากพระปฏิมาด้านคันถธุระที่ทรงบำเพ็ญไว้ด้วยดีแล้วยังทรงพอพระทัยในวัตรปฏิบัติทางวิปัสสนากรรมฐาน โปรดที่จะเสด็จไปทรงบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกับพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสีในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่เสมอ โดยเฉพาะกับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งทรงเคารพนับถือเป็นพระอาจารย์และพระภิกษุผู้บำเพ็ญสมณธรรมสายพระกรรมฐานสืบมาตราบจนปัจจุบัน
สมเด็จพระสังฆราช ทรงครองเนกขัมมปฏิปทาพรหมจริยาภิรัติอย่างบริบูรณ์ ปราศจากข้อสงสัยเคลือบแคลง พระองค์มีพระอุปนิสัยเรียบร้อยอ่อนโยน สมถะ สันโดษ เรียบง่าย มักน้อย ไม่ทรงหลงใหลในยศ และลาภสักการะ
ไม่โปรดลักษณะหรูหรา ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ไม่มีพระประสงค์ด้านการตกแต่งประดับประดาที่ประทับและบรรดาสมณบริขาร ด้วยวัตถุอนามาสหรือของวิจิตรอลังการ ไม่โปรดใช้สอยสิ่งของที่มีรูปแบบและสีสันฉูดฉาดบาดตาเกินสมณสารูป
ทรงถือข้อวัตปฏิบัติรตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ทรงเอาพระทัยใส่กวดขันพระภิกษุสามเณรในปกครองให้วางตนภายในกรอบของพระธรรมวินัยดุจเดียวกับที่ทรงวางพระองค์ ทรงบริการพระเดชและพระคุณอย่างได้ดุลยภาพลงตัว แม้จะทรงเข้มงวดกวดขันในพระธรรมวินัยกับพระภิกษุสามเณรแต่ก็เป็นไปด้วยน้ำพระทัยเปี่ยมด้วยพรหมวิหารธรรม
สมเด็จพระสังฆราช มีพระคุณลักษณะเด่นอีกประการ คือ ทรงมีพระจริยาการสดใสเบิกบาน ทรงแย้มพระสรวลละไมเป็นนิตย์ โปรดมีพระปฏิสันถารโอภาปราศรัยกับผู้คนทั่วไปทุกชั้นทุกวัย ไม่มีพระอาการปั้นปึ่งไว้พระยศ
ไม่วางพระรัศมีข่มผู้ใดด้วยพระมานะถือพระองค์ เป็นที่ซาบซึ้งชื่นใจของผู้มีโอกาสได้เฝ้าใกล้ ต่างสัมผัสถึงพระเมตตาการุณยธรรมอันไพศาลได้โดยง่าย
ทรงได้รับพระราชทานพระมหากรุณาจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงตั้ง เลื่อนและสถาปนาสมณศักดิ์ให้ไพบูลย์งอกงามในสมณฐานันดรเรื่อยมานับแต่พระปริยัติกวี ถึงที่สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ใน พ.ศ. 2552
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ได้ทรงรับเป็นพระราชภารธุระในการพิทักษ์รักษาพระบวรพุทธศาสนาอันหมายรวมถึงกิจการคณะสงฆ์ ให้ดำรงคงมั่นไพบูลย์ในสยามรัฐสีมาตลอดมานับแต่โบราณสมัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จผ่านพิภพสืบสนองพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิราชเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชอาณาจักร เสด็จดำรงพระราชสถานะทุกประการตามรัฐธรรมนูญแล้ว
ทรงดำเนินพระราชจรรยานุวัตรเยี่ยงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชในพระราชกรณียกิจด้านพระพุทธศาสนาสืบไป นับเป็นมิ่งขวัญหลักชัยของสรรพชีวิตทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ในรัฐสีมามณฑล
โดยที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นในรัชกาลปัจจุบันมีความตามมาตร 7 ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งและให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” ปรากฏแจ้งชัดว่า
สมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้าจักได้ทรงรับพระราชภารธุระในการพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่กิจการคณะสงฆ์โดยตรงตามพระบรมราชวินิจฉัยสอดคล้องสมนัยโบราณขัตติยรานีติ
ด้วยอานุภาพพระราชศรัทธา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 จึงมีพระบรมราชโองการ โปรดสถาปนาให้สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการมหาเถรสมาคม แม่กองงานพระธรรมทูต นายกสภามหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ฯลฯ
ดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกพระองค์แรกในรัชกาลปัจจุบัน เป็นสมเด็จพระฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฎพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย์ อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ ทรงเป็นคารวสถานของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนมหาชนทุกหมู่เหล่า ด้วยทรงมีมหาเถรกรณธรรม มั่นคงในพรหมจรรย์ ทรงสมบูรณ์บริสุทธิ์ด้วยพระกิตติประวัติอันปราศจากมลทินโทษทรงถึงพร้อมด้วยพระสุขุมธรรมคัมภีรญาณในฝ่ายคันถธุระ
ในขณะเดียวกันก็ทรงใฝ่พระทัยในวิปัสสนาธุระเป็นอย่างเอก ทรงพระจริยาการเรียบร้อยประณีตทุกพระอิริยาบถสมสมณสาธูป ทรงผูกประสานน้ำใจสนิทสนมกลมเกลียวเกื้อกูลกิจการพระศาสนา โดยไม่ทรงเลือกคณะนิกายฝ่ายหมู่ ทรงวางพระองค์อยู่ด้วยพระเมตตาธรรมและพระอุเบกขาธรรมสม่ำเสมอ
มิทรงไว้พระยศถือพระองค์ ทรงพระวิริยะในเนกขัมมปฏิปทาน่าเลื่อมใส ทรงเปื่ยมด้วยน้ำพระทัยอารีละมุนละม่อม พรั่งพร้อมด้วยพระการุณยธรรมเยือกเย็นเป็นที่สัมผัสซึ้งได้ในหมู่พุทธบริษัท ผู้เคยได้เฝ้าทรงเอาพระทัยใส่สืบสานปณิธานของพระมหาเถระในอดีต เพื่อธำรงพระบวรพุทธศาสนาสมควรแล้วที่จักได้ทรงพระสมณฐานันดรรุ่งเรืองไพโรจน์สูงสุดในพุทธจักร เป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และเป็นหลักชัยของพุทธบริษัทไทยสืบไป